ชีวิตและการปฏิบัติธรรม
แค่ให้ทาน รักษาศีลมันยังไม่พอ ต้องฝึกจิตกันด้วย เพราะจิตนี้มันไว อะไรมากระทบตา กระทบหู กระทบใจ ก็คิด วิเคราะห์ไปตามวิสัยของเรา หากปกติเป็นคนคิดดี คิดด้วยปัญญามันก็ออกแนวสร้างสรรค์ ไม่ให้ร้าย แต่ถ้าปกติเป็นคนอคติ เห็นอะไร คิดอะไรก็พลอยแต่จะกร่นด่า บริพาทมันก็ออกแนวให้ร้าย ทำลายกัน จิตที่ไม่ได้ถูกฝึกเมื่อมีสิ่งมากระทบก็ปรุงแต่งดี ชั่ว ไปเรื่อยปรุงดีก็เป็นสุข ปรุงชั่วก็เป็นทุกข์นั้นจึงเป็นเหตุให้เราต้องมาควบคุมจิตไว้ด้วยการหัดมีสติระลึกรู้อยู่ในปัจจุบันขณะสิ่งใดกระทบ รับให้ทัน รับแล้ววางๆ ไม่ว่ายินดี ยินร้าย อย่าไปถือเอาไว้เพราะถ้าไปถือไว้..สุดท้ายมันก็ทุกข์อยู่ดี
การปฏิบัติธรรมไม่ใช่กิจเฉพาะนักบวชเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ ตราบใดที่เรายังมีโลภ โกรธ หลง ตราบใดที่ความอยาก ไม่อยากยังมี เพราะกิเลสเหล่านี้เล่นงานทุกคน ทุกชนชั้นวรรณะ ไม่เลือกหน้าไหนทั้งนั้น ถ้าไม่เข้ามาปฏิบัติอย่างจริงจังจะไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็นกิเลสตัวเอง
บางคนบอก..ไม่จำเป็นต้องมาทำขนาดนี้ฉันก็เห็นตัวเอง รู้จักตัวเองดีการที่จะเห็นตัวเองในด้านเสีย และแก้ไขได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโดยส่วนมากมักเข้าข้างตัวเอง เอาใจกิเลสตัวเอง เห็นนิสัยเสียๆ ของตนเป็นเรื่องเล็กน้อย
พระพุทธองค์ท่านสอนว่า..” เราอย่ายินดีในบาปเพียงน้อยนิด ” เพราะการสะสมบาปอกุศลเพียงน้อยนิดไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็เป็นบาปใหญ่ได้ฉะนั้น เราควรหมั่นเจริญสติให้ระลึกรู้อยู่กับสิ่งที่ทำกับสิ่งที่คิด กับสิ่งที่พูด หรือเรียกง่ายๆ ว่า ” มีสติอยู่กับกายกับใจ ” อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ โดยอาศัยกายกับใจของเราเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ใช้สติเป็นกำลังสำคัญ
พิจารณาสิ่งที่คิด พูด ทำว่า..สมควรแก่ธรรมหรือไม่ สิ่งใดควรละ สิ่งใดควรเจริญการชำระล้างกิเลสนิสัยเสียของเรา จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเราใครจะมาทำแทน ใครจะมาขัด มาล้างให้เราก็ไม่เท่าเราได้ลงมือทำด้วยตนเอง